เจาะลึก “การเผา”🔥 ต้นกำเนิดปัญหาหมอกควัน

Krittin Dejhomchuen
5 min readJun 12, 2021

ช่วงปลายปีที่เเล้วผมมีโอกาส ได้รับทุนการศึกษาเพื่อเข้าร่วมหลักสูตร Data Analytics Bootcamp จากทาง Skooldio ซึ่งหนึ่งในจุดเด่นของหลักสูตรนี้คือการมีเนื้อหาที่เข้มข้นตลอด 2 เดือน เข้มข้นถึงขนาดว่ามีการบ้านต้องส่งเกือบทุกอาทิตย์ อีกทั้งพี่ต้า(Program Director) ขู่อีกด้วยว่าใครไม่ส่ง Capstone Project จะไม่ให้ Certificate ใบพิเศษที่โคตรเท่ เพราะเป็น Certificate สีดำ ด้วยความที่ผมอยากได้ ผมเลยต้องรีบคิดเลยว่าจะทำ Capstone Project เรื่องอะไรดี

ผมดันไปเห็นประเด็นที่เป็นข่าวอยู่บ่อยๆ ในช่วงนั้นคือเรื่องของ PM2.5 ที่เค้าบอกว่าต้นเหตุอันดับหนึ่งของ PM2.5 คือการเผาในที่โล่ง ด้วยความที่ผมสนใจในเรื่องนี้อยู่เเล้ว ผมก็อยากลองนำข้อมูลมาส่องดูเพื่อพิสูจน์ ว่าการเผาเนี่ยส่งผลต่อ PM2.5 มากขนาดไหนกันนะ

ช่วงต้นของบทความเราจะมารู้จัก PM2.5 กันอีกนิดด้วยข้อมูล

  • สรุปเเล้วอากาศที่เราหายใจเนี่ยมันปลอดภัยจริงหรือเปล่านะ ?
  • หน้าหนาวเนี่ยฝุ่นเยอะขึ้นจริงมั้ย เพราะอะไรนะ ?

ช่วงท้ายของบทความเราจะมาดูความสัมพันธ์ของการเผาเเละ PM2.5 กัน

  • เเล้ว PM2.5 จริงๆเเล้วเนี่ยมันมาจากไหนเยอะเเยะ ?
  • จังหวัดไหนบ้างที่มี การเผาในที่โล่ง🔥 บ่อยๆ ?
  • การเผาในที่โล่ง🔥 นั้นส่งผลกับค่าของ PM2.5 จริงมั้ยนะ ?

งั้นวันนี้ผมจะลองนำข้อมูลมาตอบคำถามที่ทุกคนอาจจะสงสัยให้ฟังกัน

The Data

ข้อมูลที่ใช้นั้นคือข้อมูล PM2.5 เฉลี่ยรายชั่วโมง ที่มาจากสถานีวัดอากาศจาก 2 เเหล่ง คือของกรมควบคุมมลพิษ(PCD) กับของบริษัท Berkeley Earth

โดยมีสถานีตรวจวัดครอบคลุมทั้งหมด 52 จังหวัด รวม 123 สถานี

โดยข้อมูลที่ได้ออกมาก็จะมาเป็นข้อมูลของเเต่ละสถานี โดยวัดทุกๆ 1 ชั่วโมง โดยข้อมูลที่ทำการขอมานั้นจะเป็นข้อมูลตั้งเเต่ปี 2016 เป็นต้นมาจนถึงราวๆ ปลายปี 2020 โดยในเเต่ละสถานีวัดก็ไม่ได้จะวัดเเค่ ค่า PM2.5 ยังมีอีกหลายค่าที่เเต่ละสถานีได้ทำการวัดอีกด้วย (data สถานีวัดของกรมควบคุมมลพิษ มี format ที่ unique สุดๆในเเต่ละสถานี เช่นบางสถานีใช้เป็น วัน/เดือน/ปี บางที่ก็เป็น ปี/เดือน/วัน ถ้าสุดๆที่เคยเจอน่าจะเป็นชื่อ Column เป็น วัน/เดือน/ปี เเต่ข้างในเก็บ ปี/เดือน/วัน “ใช้งานยากมาก😭”)

ตัวอย่างข้อมูลจาก PCD เเละ Berkeley Earth

สรุปเเล้วอากาศที่เราหายใจเนี่ยมันปลอดภัยจริงหรือเปล่านะ ?

ก่อนอื่นเลยเราคงต้องเข้าใจเรื่องของค่ามาตรฐานมันเป็นตัวบอกว่าอากาศที่เราหายใจเป็นอันตรายกับสุขภาพของเราหรือเปล่า องค์กรอนามัยโลก (WHO) เคยให้ข้อมูลว่า มีคนเสียชีวิตมากกว่า 4.2 ล้านคนต่อปีจากผลของมลพิษทางอากาศ ดังนั้นอากาศที่เราหายใจไม่ควรเกินค่ามาตรฐาน

โดยปกติเรามีค่ามาตรฐานอยู่ 2 ตัว

  • ค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง
  • ค่ามาตรฐานเฉลี่ยรายปี

ซึ่ง 2 ค่านี้จะไม่เท่ากันโดย ปกติมาตรฐานรายปีจะเข้มงวดกว่าค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง อย่างไทย กำหนดมาตรฐานค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงไว้ที่ 50 µg/m3 เเต่กำหนดค่ามาตรฐานเฉลี่ยรายปีไว้ที่ 25 µg/m3 อ่านต่อได้ที่นี่

เเล้วสรุปอากาศประเทศเราเกินค่ามาตรฐานมั้ยนะ ?

ค่า PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงของทั้งประเทศ

ถ้าจากที่ WHO หรือ องค์การอนามัยโลกเเนะนำ อากาศที่เราหายใจอยู่เนี่ยเกินค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ที่ 25 µg/m3 เกือบจะทั้งปี มีเเต่ช่วงเดือน มิถุนา กรกฎา ที่อาจจะหล่นๆมาต่ำกว่าค่ามาตรฐานนิดหน่อย พอให้เราได้หายใจเอาอากาศที่ไม่มีฝุ่นเข้าไปบ้าง เเล้วก็พุ่งขึ้นไปเกินค่ามาตรฐานอีกรอบนึงในเดือนตุลา เมื่อพิจารณาอีกหนึ่งค่ามาตรฐานคือของประเทศเราเองที่เรากำหนดไว้ที่ 50 µg/m3 สูงกว่าองค์การอนามัยโลก 2 เท่า เเต่ก็ยังมีบางช่วงที่เราไม่ผ่านด้วยซ้ำ

เรามาดูข้อมูลของเเต่ละจังหวัดกันดีกว่าว่าเป็นยังไงกันบ้าง

เสียใจด้วยครับกับทุกคนที่อยู่ในจังหวัดที่อยู่บน Leaderboard ของเรา พวกคุณกำลังอยู่ในพื้นที่ๆ มีปัญหาด้านมลพิษทางอากาศอย่างหนัก ค่า PM2.5 เฉลี่ยรายปีของจังหวัดคุณเกินค่ามาตรฐานของ องค์การอนามัยโลก (10 µg/m3) สหรัฐอเมริกา (12 µg/m3) สหภาพยุโรป (25 µg/m3) เเละรวมถึงของไทยที่กำหนดไว้ที่ 25 µg/m3😷

ค่าเฉลี่ย PM2.5 รายปี ในปี 2019

จากข้อมูลที่ผมมีทั้ง 52 จังหวัด มีจังหวัดที่ผ่าน มาตรฐานค่า PM2.5 เฉลี่ยรายปีที่ประเทศไทยกำหนดไว้เพียง 22 จังหวัด(สีเขียว) เเละไม่มีจังหวัดไหนเลยที่ผมมีข้อมูลที่ผ่านค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลกเเละสหรัฐอเมริกา นั้นคงตอบคำถามที่หลายๆคนสงสัยว่า “ทำไมเราไม่ใช้ค่ามาตรฐานตัวเดียวกับองค์การอนามัยโลก?” นั้นเพราะมาตรฐานเดิมที่ตั้งไว้เรายังไม่ผ่านเลยด้วยซ้ำ

ด้วยความที่สถานีตรวจวัดอากาศ จะมีเครื่องมือตรวจวัดอุณหภูมิเเละความเร็วของลมไว้ด้วยผมได้นำข้อมูลที่น่าสนใจบางส่วนมาตอบบางคำถามของทุกคนกัน

มีใครรู้สึกเหมือนผมมั้ยว่าหน้าหนาวฝุ่นมันเยอะ มันจริงมั้ยนะ ?

ค่าเฉลี่ยรายวันของอุณหภูมิ(สีเเดง)เเละPM2.5(สีเหลือง) ในจังหวัดเชียงใหม่

เมื่อลองพิจารณาดูกราฟสิ่งที่เราน่าจะเห็น Trend คร่าวๆของความสัมพันธ์ของอุณหภูมิเเละค่าของ PM2.5 พบว่าเมื่อสิ้นสุดฤดูร้อนในเดือน พฤษภา เเละอุณภูมิค่อยๆลดลงก็จะพบว่าค่าของ PM2.5 นั้นก็จะค่อยๆเพิ่มขึ้น เเละเป็นเเบบนี้ในทุกปี เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ เกิดจาก ปรากฏการณ์อุณหภูมิผกผันหรือ Temperature inversion ที่เป็นปรากฏการณ์ที่มักจะเกิดในช่วงฤดูหนาวหรือช่วงที่มีอุณหภูมิต่ำ ที่จะเป็นเหมือนมีฝาชีครอบไว้ไม่ให้อากาศเเละฝุ่นลอยขึ้นไปได้ ทำให้ฝุ่นไม่กระจายตัวออกไปเเละถูกขังเอาไว้ใกล้พื้นโลก นั้นทำให้เรารู้สึกว่าทำไมหน้าหนาวฝุ่นถึงเยอะจัง เพราะฝุ่นมันลอยออกไปไม่ได้เเล้วก็โดนขังอยู่กับพวกเราให้พวกเราได้หายใจเข้าไปเนี่ยเเหละ

อีกตัวเเปรที่ผมลองนำข้อมูลมาพล็อตดูเเล้วพบความสัมพันธ์ที่น่าสนใจ คือความสัมพันธ์ของความเร็วลมเเละค่าของ PM2.5

กราฟ1 PM2.5 เเละความเร็วลม ราย 24 ชั่วโมง | กราฟ2 PM2.5 เเละความเร็วลมสูงสุด ของกรุงเทพ

ผมนำข้อมูลความเร็วลมเเละค่า PM2.5 ในเเต่ละวันมาลองพล็อตในกราฟเเรกเราจะพอเห็นคร่าวๆว่า มันน่าจะมีความสัมพันธ์กันอยู่นะ พอลองสังเกตดูจะพบว่าเมื่อความเร็วลมค่อยๆสูงขึ้น(เเกน x) เเนวโน้มของค่า PM2.5 สูงสุดก็มีเเนวโน้มลดลง(เเกน y)

ซึ่งเราสามารถพิจารณาได้ชัดๆจากกราฟที่สองที่ผมนำค่า MAX(PM2.5)เเละความเร็วลมมาพล็อต ผมลองลาก Trendline ดูเเละพิจารณาค่า R-squared P-value ดูก็จะพบว่าทั้งสองตัวเเปรนั้นมีความสัมพันธ์กัน จึงสามารถสรุปได้ว่า “ในวันที่ลมเเรงโอกาสที่ PM2.5 จะขึ้นสูงในวันนั้นก็จะมีน้อยกว่าวันที่ลมนิ่ง” เนื่องจากในวันที่ลมเเรงนั้นฝุ่นก็จะโดนพัดไปกับลมทำให้ฟุ้งกระจายออกไปด้วย ทำให้ค่า PM2.5 ที่เราวัดได้นั้นไม่สูงมากนัก

อีกหนึ่งคำถามที่ผมสงสัยมากๆเลยคือ

ฝุ่นมันมาจากไหนเยอะเเยะ?

จากที่ THE STANDARD เคยรายงานไว้ในบทความ “เข้าใจ PM2.5 ฝุ่นพิษขนาดเล็กที่เดียวจบ”

ก็จะเห็นว่าจากที่ THE STANDARD ได้รายงาน การเผาในที่โล่ง🔥 เนี่ยปล่อย PM2.5 มากเป็นอันดับหนึ่ง พอลองมาทำเป็น 100% Bar Chart เพื่อเปรียบเทียบอัตราส่วนของข้อมูลก็จะเห็นว่า การเผาในที่โล่งเนี่ยคิดเป็น 58.79% เมื่อเทียบกับอีก 4 กลุ่มที่เหลือ

เเล้วการเผาในที่โล่งนี่ใช่สาเหตุ PM2.5 จริงหรือเปล่านะ? เเต่ก่อนจะตอบคำถามข้อนี้ได้เราต้องตรวจวัดการเผาในที่โล่งให้ได้ก่อน

เเล้วเราจะตรวจวัด การเผาในที่โล่ง🔥 ได้ยังไงกันล่ะ?

การที่ผมจะตรวจวัดการเผาในที่โล่งผมคงต้องใช้ข้อมูลจากที่อื่นเพิ่มนิดหน่อย ในที่นี้ผมใช้ข้อมูลของ NASA FIRMS เป็นข้อมูลแสดงจุดความร้อน(Hotspot) และสถานการณ์เกิดไฟ ตามเวลาจริงทั่วโลก

โดยหน้าตาของข้อมูลก็จะเป็นประมาณนี้ ใครอยากลองโหลดไปเล่นโหลดได้ที่นี่เลย

โดยข้อมูลชุดนี้ผมได้ต้องนำมาทำต่อนิดหน่อยโดยผม เปลี่ยนค่า latitude longitude ให้กลายเป็น ชื่อจังหวัด เเละนับจำนวนจุด Hotspot ที่เกิดขึ้นในเเต่ละวันเพราะเราจะใช้จำนวนจุดในเเต่ละวันมาวิเคราะห์

จังหวัดไหนบ้างที่มี การเผาในที่โล่ง🔥 บ่อยๆ ?

จำนวนจุด Hotspot ในปี 2019

จาก จำนวนจุด Hotspot ในปี 2019 พบว่าจังหวัดที่มี จำนวนจุดมากที่สุดมาเป็นอันดับหนึ่งคือ จังหวัดเชียงใหม่ เเละเมื่อลองดูที่ Choropleth Map ที่ผมทำมาเพื่อเปรียบเทียบจำนวนจุด Hotspot ในเเต่ละพื้นที่เราก็จะพอมองเห็นว่ามีจุดความร้อนเกิดขึ้นมากในภาคเหนือ

Choropleth Map-การเเสดงข้อมูลลงบนเเผนที่ใช้เเสดงค่าสัมพัทธ์เช่น %,อัตราส่วน

การเผาในที่โล่ง🔥 นั้นส่งผลกับค่าของ PM2.5 จริงมั้ยนะ ?

กราฟนี้ผมได้พล็อตซ้อนกัน 2 กราฟเพื่อเปรียบเทียบคร่าวๆ ระหว่างค่า PM2.5 เเละ Hotspot โดยกราฟ Choropleth Map ผมได้พล็อตค่าเฉลี่ยรายปีของ PM2.5 เเละ Bubble Map ผมได้พล็อตเป็นจำนวนจุด Hotspot เฉลี่ยต่อปี ซึ่งเราจะเห็นว่ามันดูมีความสัมพันธ์กันอยู่นะ โดยจังหวัดที่มีการเผาเยอะๆอย่างเชียงใหม่ เชียงราย ที่มีการเผาเป็นอันดับ 1 เเละอันดับ 3 ก็มีอันดับของ PM2.5 อยู่ที่อันดับต้นๆที่อันดับ 4 เเละอันดับ 3 เหมือนกัน เพื่อพิสูจน์สมมุติฐานนี้เรามาดูข้อมูลกันอีกหน่อยดีกว่า

กราฟ1 จำนวนจุด Hotspots เเละ เวลา(วัน) | กราฟ2 ค่า PM2.5 เเละ เวลา(วัน) ของจังหวัดเชียงใหม่

จากที่เห็นผมได้ลองนำค่า PM2.5 เเละค่า Hotspot ของจังหวัดเชียงใหม่ มาพล็อตเป็น Time Series เราก็จะเห็นทั้งคู่มีช่วง Peak ในช่วง March April ทั้งคู่ ผมเลยลองนำ 2 กราฟนี้มาซ้อนกันเพื่อดูความสัมพันธ์ เเละปรับเป็นค่าเฉลี่ยรายเดือนเพื่อให้ดูง่ายขึ้น

กราฟเเสดง จำนวนจุด Hotspots (สีเเดง) ค่า PM2.5 (เหลือง) เเละ เวลา(เดือน) ของจังหวัดเชียงใหม่

เราก็จะเห็นว่าช่วงที่มีเผามากเกิดจุด Hotspot มาก ค่าฝุ่น PM2.5 ก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วยอย่างชัดเจนในทุกๆปี เเต่คำถามที่เราควรตั้งต่อไปคือ

ในช่วง March April คนเชียงใหม่เค้าเผาอะไรกัน?

จากการหาข้อมูลของผมก็คงไม่อาจจะสรุปอะไรได้มาก เเต่จากการหาข้อมูลพบบางข้อมูลที่น่าสนใจเเละดูมีความเป็นไปได้ คือทุกปีในช่วงการเก็บเกี่ยวผลผลิตหน้าแล้ง จะมีเศษวัสดุเหลือทิ้ง ได้แก่เปลือกและซังข้าวโพดโดยส่วนใหญ่เกษตรกรจะปล่อยไว้ และรอเผาทิ้งในช่วงเดือน เมษายน ของทุกปี ซึ่งก่อให้เกิดควันจากการเผาไหม้ หรืออีกเรื่องนึงที่ดูมีความเป็นไปได้เหมือนกันคือชาวบ้านจะมีการเผาป่าเพื่อเข้าไปเก็บเห็ดเผาะเเละผักหวาน เพราะชาวบ้านมีความเชื่อว่าถ้าเผาป่าเห็ดเผาะจะออกดอกเเละผักหวานจะเเตกยอด ซึ่งนั่นเป็นความเชื่อที่ผิดเเละมีงานวิจัยรองรับระบุชัดว่า “ไฟป่าไม่ได้ช่วยให้เกิดเห็ด แต่การพบเห็ดภายหลังไฟป่า อาจเป็นเพราะเศษซากหญ้าพืชที่ปกคลุมดินถูกเผาทำลาย ทำให้มองเห็นเห็ดเผาะเเละผักหวานได้ง่ายขึ้น”

เรากลับมาที่เรื่อง PM2.5 กันดีกว่า

เเล้วการเผานี่มันส่งผลมากน้อยขนาดไหนกันนะกับค่า PM2.5 ?

กราฟเเสดงสัมพันธ์ระหว่างจุด Hotspot กับปริมาณ PM2.5 (จังหวัดเชียงใหม่)

การเปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างจุด Hotspot กับปริมาณ PM2.5 ซึ่งสามารถเปรียบเทียบเบื้องต้นโดยการสร้างกราฟ Scatter Plot เเละลาก Trend Line โดยที่ผมได้ลากไปเป็น Power Model Type ซึ่งเมื่อพิจารณาจากกราฟก็จะเห็นว่าเมื่อจุด Hotspot เพิ่มขึ้นค่า PM2.5 ก็มีเเนวโน้มสูงขึ้นตามไปด้วย โดยมีความสอดคล้องกับโมเดลของเราอยู่พอสมควร ซึ่งเมื่อพิจารณา ค่า R-Squared ที่มีค่าเป็นบวกเเละมีค่าอยู่ที่ 0.634 ซึ่งไม่ได้ถือว่าน้อย นั้นเเปลว่าโมเดลของเราค่อนข้าง Fit กับตัวข้อมูล เเละ P-value เองก็มีค่าน้อยกว่า 0.0001 ดังนั้นความสัมพันธ์ของ 2 ตัวเเปรนี้มีเเนวโน้มที่เป็นไปตามโมเดล

เเต่ถึงอย่างนั้นเเต่ละจังหวัดก็มีความเเตกต่างกัน บางจังหวัดมีการเผาเยอะจำนวนจุด Hotspot มาก ส่วนบางจังหวัดมีการเผาน้อยจำนวนจุด Hotspot ไม่ได้มาก การเผาในเเต่ละพื้นที่จึงส่งผลต่อการเกิด PM2.5 ไม่เท่ากัน

กราฟเเสดงสัมพันธ์ระหว่างจุด Hotspot กับปริมาณ PM2.5 (จังหวัดเเม่ฮ่องสอน|กรุงเทพ|ระยอง|ยะลา)

เมื่อลองพิจารณาในจังหวัดเเม่ฮ่องสอนที่มีจำนวนจุด Hotspot มากเป็นอันดับ 2 พบว่าทั้งสองตัวเเปรนั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างชัดเจนโดยเมื่อมีจำนวนจุด Hotspot มากขึ้นก็มีเเนวโน้มที่ค่า PM2.5 จะสูงขึ้นด้วย เเต่เมื่อเราลองมา พิจารณาจังหวัดที่ไม่ได้มีการเผาในที่โล่งเป็นกิจกรรมหลักในพื้นที่เเละมีจำนวนจุด Hotspot น้อย นั้นเช่น กรุงเทพ ระยอง ยะลา ก็จะพบว่าเมื่อพิจารณาดูเเล้วนั้นค่าของทั้งสองตัวเเปรนี้เเทบไม่ได้มีความสัมพันธ์ต่อกันเลย จึงสรุปว่า จังหวัดที่ไม่ได้มีการเผาในที่โล่งเยอะไม่ได้เกิดจำนวนจุด Hotspot มาก การเผาในที่โล่งจะไม่ได้เป็นปัจจัยที่มีเเนวโน้มชัดเจนที่ทำให้เกิด PM2.5 เเต่อาจเกิดจากปัจจัยอื่นที่เราต้องศึกษาต่อไปเช่นการเผาไหม้จาก รถยนตร์ หรือ โรงงานอุตสาหกรรม ส่วนจังหวัดที่มีการเผาเป็นกิจกรรมหลัก ค่า PM2.5 นั้นมีเเนวโน้มว่าเป็นผลมาจากการเผาอย่างชัดเจน

การเผาวันนี้ส่งผลเเค่วันนี้จริงหรอ ?

กราฟเเสดงสัมพันธ์ระหว่างจุด Hotspot กับปริมาณ PM2.5 หลังจากเกิดการเผา (จังหวัดเชียงใหม่)

จากความสงสัยนี้ผมได้ลองทดสอบง่ายๆ โดยจุด Hotspot ที่เกิดขึ้นมาพล็อตคู่กับค่า PM2.5 ที่เกิดขึ้นหลังจากวันเผาไปเเล้ว 1,2,3 วัน เเละพบว่ามีเเนวโน้มค่า PM2.5 ที่เพิ่มขึ้นนั้นเกิดขึ้นจากการเผาในวันก่อนหน้านั้นด้วย ซึ่งเกิดจากการสะสมของฝุ่นที่พอเวลาเราเผา ฝุ่นอาจไม่ได้ถ่ายเทไปที่อื่นเลยทันทีเเละยังคงสะสมอยู่ในพื้นที่นั้นไปอีกหลายวัน

ถ้าหลายคนได้อ่านข่าวคงเคยเจอข่าวฝุ่นจากประเทศเพื่อนบ้านถูกพัดเข้ามาในประเทศเราสร้างความเดือนร้อนให้กับคนในประเทศ ผมเลยอดสงสัยไม่ได้จริงๆเลยว่าเราได้รับผลกระทบจริงมั้ยเเล้วได้รับมากขนาดไหนกันนะ

ผลกระทบจากประเทศเพื่อนบ้าน

กราฟเปรียบเทียบจำนวนจุดการเผาของเเต่ละประเทศ (ในปี2016–2020)

ลองดูจากขนาดของวงกลมเราจะเห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่าความจริงเเล้วประเทศเราจำนวนจุด Hotspot ที่เกิดขึ้นนับว่าเด็กๆมากเมื่อเทียบกับ พม่าที่ครองอันดับหนึ่งในทุกปี เเละ ประเทศเรานั้นก็อยู่ติดกับประเทศพม่าด้วยเเละเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ ที่ฝุ่นการเผาจากประเทศพม่าลอยเข้ามาในประเทศไทยทำให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศในประเทศ

พม่าเค้าเผา🔥 อะไร ?

พม่านั้นมีการเผาในช่วงเดือน มีนา เป็นประจำทุกปี เเล้วสรุปเค้าเผาอะไรกันนะ เราคงต้องเอาข้อมูลมาดูต่ออีกหน่อย

กราฟเเสดงจำนวนจุดการเผาของเเต่ละรัฐในพม่า

จากการดูข้อมูลในรายพื้นที่พบว่า ที่รัฐฉานหรือที่เรารู้จักกันในชื่อไทยใหญ่ มีการเผามากกว่ารัฐอื่นอย่างชัดเจน เเละรัฐฉานอยู่ติดกับจังหวัด เชียงราย เชียงใหม่ เเละ เเม่ฮ่องสอน

จากการที่ผมลองหาๆข้อมูลดูก็พบว่า รัฐฉานนั้นเป็นเจ้าตลาดเมล็ดพันธ์ุข้าวโพดในพม่า เเละจะมีการเผาต่อซังข้าวโพดภายหลังฤดูเก็บเกี่ยวในช่วง กุมภา-เมษา ของทุกปีเพราะเป็นการเตรียมพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดรอบใหม่ที่ง่ายเเละต้นทุนถูกที่สุด ถึงชาวบ้านจะได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่นควันเหมือนกันเเต่ชาวบ้านก็ไม่มีเงินที่จะไปจ้าง รถไถมาไถกลบต่อซังข้าวโพดได้

สามารถอ่านบทความเกี่ยวกับเรื่อง🌽ได้ที่นี่

การเผาที่บ้านเค้าส่งผลกับบ้านเรามากน้อยเเค่ไหนนะ ?

กราฟเเสดงสัมพันธ์ระหว่างจุด Hotspot (รัฐฉาน) กับปริมาณ PM2.5 (จังหวัดเชียงราย|เชียงใหม่|เเม่ฮ่องสอน)

ด้วยความที่รัฐฉานนั้นอยู่ติดกับเชียงราย เชียงใหม่ เเละ เเม่ฮ่องสอน เลยลองนำข้อมูลการเผาที่รัฐฉานมาพล็อตคู่กับค่า PM2.5 ในเเต่ละจังหวัดเพื่อหาความสัมพันธ์จากข้อมูลก็พบว่าเมื่อมีการเผามากขึ้น มีเเนวโน้มที่ค่า PM2.5 จะสูงมากขึ้นไปด้วย ถึงอาจไม่ได้มากเท่ากับการเผาในตัวจังหวัดเอง เเต่ก็มีเเนวโน้มที่การเผาจากรัฐฉานจะเป็นอีกหนึ่งต้นเหตุของปัญหาฝุ่นควันใน 3 จังหวัดนี้ด้วยเช่นกัน

บทสรุปสั้นๆ

  • สรุปเเล้วอากาศที่เราหายใจเนี่ยมันปลอดภัยจริงหรือเปล่านะ ? ถ้าลองพิจารณาจากข้อมูล PM2.5 ที่ผมมี เทียบกับค่ามาตรฐานของกรมอนามัยโลก พบว่าอากาศที่เราหายใจไม่ปลอดภัยเกินค่ามาตรฐานในหลายจังหวัด
  • หน้าหนาวเนี่ยฝุ่นเยอะขึ้นจริงมั้ย เพราะอะไรนะ ? สรุปว่าจริงเมื่อพิจารณาจากข้อมูลเห็น Trend ค่อนข้างชัดคิดว่าเกิดจาก ปรากฏการณ์อุณหภูมิผกผันหรือ Temperature inversion
  • เเล้ว PM2.5 จริงๆเเล้วเนี่ยมันมาจากไหนเยอะเเยะ ? มาจากหลายเเหล่งกำเนิดเเต่ในตัวบทความนี้พยายามจะเเสดงให้เห็นว่าในบางพื้นที่ ฝุ่น PM2.5 เกิดจากการเผาในที่โล่งของคนในพื้นที่เเละประเทศเพื่อนบ้านเป็นปัจจัยสำคัญ

ข้อมูลที่ผมนำมาวิเคราะห์นั้นมีปัญหาอยู่ค่อนข้างมาก ข้อมูล PM2.5 ที่บางพื้นที่มีข้อมูลหายไปเป็นเดือนๆ หรือมี Outliner หน้าตาเเปลกๆที่ผมต้องคลีนทิ้งออกไป บ้างจึงทำให้มีข้อจำกัดในการวิเคราะห์อยู่พอสมควร

อันที่จริงค่าเฉลี่ย PM2.5 นั้นค่อนข้าง Bias มากเนื่องจากบางเดือนค่า PM2.5 ก็พุ่งขึ้นสูงไปดึงค่าเฉลี่ยรายปีสูงขึ้นตามไปมาก จากคำเเนะนำของพี่ต้า ก็บอกให้ลองใช้จำนวนวันที่เกินมาตรฐาน เเต่ว่าเนื่องจากข้อมูลไม่ครบถ้วนเลยไม่สามารถทำได้

นี่เป็นบทความวิเคราะห์ข้อมูลครั้งเเรกของผมถ้าผิดพลาดอย่างไรก็สามารถให้คำเเนะนำติชมผมไว้ได้เลยครับ เเละสุดท้ายนี้อยากขอบคุณ อาจารย์ที่คณะที่ให้คำปรึษา เเละ Skooldio ที่ให้ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมหลักสูตร Data Analytics Bootcamp เเละทำให้ผมได้เรียนรู้การทำงานกับข้อมูลเเละได้ทำ Capstone Project สนุกๆมาให้ทุกคนได้อ่านกัน ขอบคุณมากค้าบ🙏

เย้🎉🎉 สุดท้ายผมก็ได้ Certificate ใบสีดำ เเล้วก็ได้ 1st RUNNER UP กิจกรรม Capstone Project pitching เเถมมาด้วย 🎊

References

--

--